หลวงปู่เอี่ยม  วัดหนัง                
เกจิอาจารย์รุ่นเก่าสุดขลัง

LINE it!

        ที่ผ่านมาพระเกจิอาจารย์ส่วนใหญ่มักจะอยู่ตามต่างจังหวัด  เพราะสถานที่ดังกล่าวจะเงียบสงบเหมาะแก่การปลีกวิเวกเพื่อปฏิบัติเจริญภาวนา ผิดกับกรุงเทพ ซึ่งมีผู้คนมากดูสับสนวุ่นวาย  แต่นั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญในวิปัสสนากรรมฐาน และหนี่งในนั้นต้องมีหลวงปู่เอี่ยม แห่วัดหนัง ย่านบางขุนเทียน ผู้มีพลังจิตแก่กล้ารอบรู้ในพุทธาคมและไสยเวท จึงทำให้ท่านโด่งดังมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของผู้ที่ศรัทธาตั้งแต่กาลก่อนมาจนถึงปัจจุบัน                                                  

                         
   
     หลวงปู่เอี่ยม หรือ "เจ้าคุณเฒ่า" ท่านเป็นชาวบางขุนเทียนมาแต่กำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2375 (สมัย ร.3) เป็นบุตรของนายทองและนางอู่ เมื่อถึง พ.ศ. 2387 โยมทั้งสองได้นำท่านไปฝากเรียนอยู่ที่สำนักวัดหนัง จนถึง พ.ศ. 2397 ท่านจึงทำการอุปสมบท ณ ที่วัดราชโอรส ท่านเคร่งและศึกษาด้านปริยัติธรรมมาก และชั่วระยะหนึ่งท่านก็ย้ายไปอยู่ที่วัดนางนอง โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับ "หลวงปู่รอด" ซึ่งกำลังเลื่องชื่อมากในด้านวิทยาอาคมขลัง 


                                                   
เหรียญรุ่นแรกฉลุยกหน้าเนื้อทองคำ  

     เริ่มแรกหลวงปู่เอี่ยมได้หันมาสนใจในด้านไสยเวท จนถึงขนาดได้เป็นศิษย์เอกของอาจารย์  ครั้นต่อมาในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) "หลวงปู่รอด" ได้ถูกถอดจากสมณะศักดิ์เดิม ให้เป็นพระสงฆ์ธรรมดาๆ หลวงปู่รอดจึงได้ย้ายพระอารามไปครองอยู่ที่วัดโคนอน โดยมีเจ้าคุณเฒ่าตามไปรับใช้อยู่ที่วัดโคนอนด้วย ต่อมาไม่นานนักหลวงปู่รอดได้ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดโคนอนสืบแทนพระอาจารย์ต่อไป

     เมื่อถึง พ.ศ. 2441 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าให้ "หลวงปู่เอี่ยม" ไปครอง "วัดหนัง" ต่อไป และรุ่งขึ้นอีก 1 ปี องค์สมเด็จพระปิยะมหาราชก็ได้พระราชทานสมณะศักดิ์ให้แก่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง เป็นพระราชาคณะที่ "พระภาวนาโกศล" (เอี่ยม) ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับพระอาจารย์ของท่านนั่นเอง ท่านได้ครองวัดหนังอยู่ถึง 27 ปีเศษ จึงถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2469 รวมอายุได้ 94 ปี


                                                      
เหรียญรุ่นแรกบล็อกยันต์สี่สามจุด 

     ในด้านวัตถุมงคลนั้นที่เล่นหากันในราคาสูงเห็นจะเป็นเหรียญรุ่นแรก ซึ่งมีทั้งเนื้อทองคำ เนื้อเงินและเนื้อทองแดง อีกทั้งสร้างแบบพิเศษขึ้นอีกหลายอย่าง เช่นเป็นพื้นเงินองค์พระฉลุด้วยทองคำดุนนูนพื้นเงินองค์พระฉลุเป็นนาค เหรียญทองคำลงยาและเหรียญเงินหลังยันต์สี่ 3 จุดกับเหรียญทองแดงหลังยันต์สี่ 4 จุดนอกจากเหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่เอี่ยมรุ่นแรกนี้แล้ว หลวงปู่เอี่ยมยังได้สร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนขึ้นอีก 1 รุ่นเป็นรุ่นสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2469 เรียกเหรียญปั๊มรูปเหมือนปู่เอี่ยมรุ่นสุดท้ายยันต์ 5 เป็นเหรียญเนื้อสัมฤทธิ์ โดยค่านิยมแตกต่างกันไปขึ้นอยู่ว่าสภาพความสวยงามของเหรียญว่าผ่านการใช้งานมามากน้อยแค่ไหน  


                                                 
เหรียญปั๊มรุ่นสุดท้ายยันต์ห้าปี 2469

     สำหรับเหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่เอี่ยม รุ่นแรก ยันต์สี่ พ.ศ. 2467 นับเป็นพระเครื่องเหรียญที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่หลวงปู่เอี่ยมยอมอนุญาตให้มีการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้น เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยสมทบทุนในการปฎิสังขรณ์ ศาลาการเปรียญซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก มีการจัดสร้างทั้งเนื้อทองคำ เงิน และทองแดง อีกทั้งยังสร้างแบบพิเศษขึ้นอีกหลายรูปแบบ

     เหรียญปั๊มรูปเหมือนของปู่เอี่ยม รุ่นแรก ยันต์สี่ พ.ศ.2467 เป็นเหรียญรูปใบเสมา หูในตัวขอบเหรียญทั้งด้านหน้าและด้านหลังแกะลวดลายกนกอย่างงดงาม แม่พิมพ์ด้านหน้า มีเพียงพิมพ์เดียว ภายในกรอบกนกมีรูปจำลองหลวงปู่เอี่ยมนั่งเต็มองค์บนอาสนะขาสิงห์ ได้โต๊ะและข้างแขนทั้งสองข้างมีลายกนกเล่นลายอุณาโลม เหนือศีรษะหลวงปู่มีอักขระ พุทโธ ด้านล่างได้อาสนะขาสิงห์มีอักขระขอมเป็นชื่อท่าน คือ ภาวนาโกศลเถระ รอบเหรียญมีหนังสือไทยว่า วัน 6 เดือน 11 ปีมะโรง จัดวาศก

     สำหรับแม่พิมพ์ด้านหลัง แบ่งเป็น 2 พิมพ์ โดยเรียกตาม จุดไข่ปลา ที่ข้างตัว พ.พาน และเลข 7 ถ้ามี 4 จุด เรียก ยันต์สี่ สี่จุด ถ้ามี 3 จุด เรียก ยันต์สี่ สามจุด นอกนั้นจะเหมือนกันหมดทั้ง คำละหนึ่งตัวคือ นะ โม พุท ธา เฉพาะตัว ยะ จะถูกล้อมด้วยกรอบยันต์สี่อีกชั้นหนึ่ง ข้างตัว ยะ มี นะปถมัง อันเป็นหัวใจของยันต์กลางเหรียญเป็นตัว อุณาโลม ใต้ลงมามีตัว มะอะอุ ซึ่งเป็นหัวใจพระรัตนตรัย ข้างล่างลงมาเป็นตัว นะมะพะทะ อันเป็นหัวใจธาตุทั้งสี ขอบเหรียญมีการระบุปีสร้างคือ พ.ศ.2467 ด้านพุทธคุณมีครบทั้งด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด เมตตามหานิยม และคุ้มครองป้องกันภัย 



                                                     พระปิดตาพิมพ์ยันต์ยุ่ง

       ในขณะเดียวกันถ้าเป็นพระปิดทวาร "พิมพ์ยันต์ยุ่ง" และ "พิมพ์ประกบสองหน้า"  ได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453  ที่วัดหนัง  ส่วนพระปิดตาเนื้อไม้ เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อโลหะต่างๆ แบบหน้าเดียวและพระกริ่ง รวมทั้งเนื้อผงบางชนิดก็ได้มีสร้างมาก่อนที่วัดโคนอน   แต่เมื่อมาอยู่วัดหนัง หลวงปู่เอี่ยมท่านได้นำมาสร้างและแก้ไขใหม่อีกครั้ง   

     สำหรับเรื่องราวของพระปิดทวารยันต์ยุ่งนี้ นับเป็นการสร้างที่ต้องใช้ความประณีตแบบเดียวกับพระวัดทองของหลวงพ่อทับ เพราะต้องสร้างองค์ต่อองค์  ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายกันก็จริง แต่ขนาดจะไม่เท่ากัน มีสร้างไว้ทั้งชนิดเนื้อสัมฤทธิ์แก่เงิน และเนื้อโลหะแก่ทอง  ยกเว้นที่ทำเป็นเนื้อผงสีน้ำตาลก็มี แต่หาชมได้ยากมาก สรุปแล้วพระปิดทวารยันต์ยุ่งของวัดหนังเป็นพระปิดทวารที่อลังการไปอีกแบบหนึ่งโดยองค์จะบางกว่าพระปิดตาวัดทอง


                                                   
พระปิดตาพิมพ์ประกบเศียรแหลม

     ขณะนี้พระปิดทวารยันต์ยุ่ง" ของวัดหนัง  หากจะกล่าวถึงพุทธคุณของพระปิดทวารพิมพ์นี้ ไม่ต่างไปจากพระแร่บางไผ่ หรือพระปิดทวารวัดทองเลย โดยเฉพาะในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และดีทางมหาอุตม์  ดังได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องพระปิดทวาร "ยันต์ยุ่ง" ว่าพระ "ภควัมบดี" ที่หลวงปู่เอี่ยมสร้างไว้มีมากพิมพ์ ประมาณจำนวนกันไม่ได้ แต่ก็เชื่อกันว่าพระเพียงหนึ่งส่วนเท่านั้นที่ท่านอาจสร้างไว้เป็นครั้งแรกที่ "วัดโคนอน" สำหรับอีกสามส่วนนั้นเข้าใจว่าสร้างที่วัดหนังเป็นส่วนใหญ่


                                                               
พระปิดตาพิมพ์สังฆาฏิ
 
     กล่าวกันว่าเมื่อท่านมาอยู่วัดหนังได้ระยะหนึ่ง คือประมาณ พ.ศ. 2448 จึงได้เริ่มสร้างพระเนื้อไม้แกะ และพระปิดตาฐานบัว ที่เคยสร้างไว้ที่วัดโคนอน  ต่อมาถึงได้สลับด้วยพระกริ่ง พระอุดก้นด้วยชันโรง พระปิดทวารยันต์ยุ่ง พระปิดทวารนะหัวเข่า พระปิดทวารหัวบานเย็น พระปิดตาหมากทุย พระปิดทวารพิมพ์ประกบ พระปิดตาพิมพ์ข้าวตอกแตก พระปิดตาพิมพ์สังฆาฏิ และพระปิดตาปิดทวารพิมพ์เล็กจิ๋วอีกหลายแบบ 


                                                             
พระปิดตาพิมพ์ข้าวตอกแตก 

     นอกจากนี้ยังทำเป็นองค์พระที่ไม่ใช่พระปิดตา แต่ประมาณพิมพ์ไม่ได้ว่ามีเท่าไหร่ หลวงปู่เอี่ยมได้สร้างพระแบบ "องค์ภควัมบดี" ดังกล่าว เป็นลำดับไปด้วยเนื้อไม้ เนื้อสัมฤทธิ์แก่เงิน โดยเฉพาะพิมพ์ยันต์ยุ่งและพิมพ์ประกบ มีผู้คนนิยมกันมากจึงทำให้มีราคาสูง  ส่วนเนื้อสัมฤทธิ์แก่ทอง เนื้อชินเงิน เนื้อตะกั่วผสมชิน เนื้อเมฆพัด (มีน้อย) เนื้อผงสีต่างๆ เนื้อผงคลุกรัก และเนื้อผงใบลานเผาก็มีสร้างไว้เช่นกัน 

     สรุปจากพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ที่หลวงปู่เอี่ยมได้สร้างไว้ ปัจจุบันจะหาชมได้เพียงบางพิมพ์เท่านั้น และขณะนี้ก็นับว่าได้สนนราคาเช่ากันสูงพอสมควรทีเดียว อย่างพระปิดตา "ข้าวตอกแตก" เล็กจิ๋วกับพระปิดทวารเล็กจิ๋วเนื้อดิน เป็นพระที่นิยมกันมาก  พร้อมกันนั้นก็ยังมีพระชัยวัฒน์พิมพ์เขื่อนใหญ่  หรือแม้แต่หมากทุยของท่าน ถือเป็นเครื่องรางของขลังที่ขึ้นชื่อเป็นต้นตำรับของหมากทุย และเป็นที่ยอมรับในวงการพระบ้านเรา   เพราะเป็น 1 ใน 9 สุดยอดเครื่องรางของเมืองไทย 
 

                                               
หมากทุยลูกใหญ๋ถักเชือกลงรักปิดทอง    

      ในการทำมากทุยนั้นค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะการหาหมากทุยที่ตายพราย เรียกว่า ยืนต้นตาย ทำให้หายากจำนวนการสร้างจึงมีน้อยก่วา พระเครื่องมาก ขนาดของหมากทุยนั้นไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เพราะทำจากลูกหมากที่ตายพราย ลูกจึงแคระแกรนบางลูกออกลีบๆ เมื่อทำเสร็จแล้วเจ้าของจึงนำไปถักเชือกลงรักเพื่อความคงทนและนำไปแขวนติดตัวครับ หมากทุยที่แบบเปลือยไม่มีการถักและลงรักก็มี ต้องสังเกตความเก่าของชันนะโรงที่อุดนะ   หมากทุยมีกรรมวิธีการสร้างและขั้นตอนเช่นเดียวกับการสร้างพระเครื่อง จึงคงมีความขลังเช่นเดียวกับพระเครื่องและเครื่องรางอื่นๆของหลวงปู่เอี่ยม นับว่าของดีที่น่ามีไว้ติดตัวเป็นอย่างมาก เพราะขนาดเบา พกติดตัวง่าย ไม่ต้องกลัวว่าจะหล่นแตก มีอยู่กับผู้ใด ถือว่าเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง


                                                         หมากทุยลูกเล็กถักเชือกลงรัก

         ปิดท้ายด้วยเรื่องตะกรุดที่สร้างขึ้นมานั้นมีด้วยกันหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นตะกรุดเงิน ยันต์มงกุฏพระพุทธเจ้าขนาดสาลิกาพอกผงลงรัก ถักเชือก ตามประวัติการสร้างตะกรุดเงิน และตะกรุดทอง  ท่านจะทำแจกเฉพาะชั้นกษัตริย์ เจ้าขุนมูลนาย หรือพวกข้าราชบริพารในพระองค์ที่ตามเสด็จเท่านั้น "เหตุเพราะท่านเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้ เอาแผ่นทองคำ และแผ่นเงินมาถวายให้ท่านช่วยทำตะกรุดให้  แบบเราๆคนชั้นสามัญชนไม่มีสิทธิ์ ไม่มีทาง ซึ่งตะกรุดสาริกาเนื้อเงินจะพอกผงลงรักถักเชือก โดยยุคต้นๆให้สังเกตุถึงความแห้งมันส์สะใจกับเส้นเชือกที่แห้งกรอบจนเกือบจะกลายเป็นไม้ และรักเป็นรักจีนแห้งเงาแตกเป็นเกร็ดสมเป็นรักเก่าอายุ๑๐๐ปี ที่ชี้ให้เห็นแบบง่ายๆว่าเป็นตะกรุดยุคแรกของท่าน

           
                                            ตะกรุดมงกุฏพระพุทธเจ้าสาริกา 
 
        ตะกรุดสาลิกาจะมีขนาดเล็กเพียงแค่ ๑นิ้ว ๕ หุน ขึ้น ๙เสา วน ๓รอบ พอกผงลงรักเก่าอายุ ๑๐๐ปี ความเก่าตามอายุรัก และเส้นเชือก ตะกรุดของท่านจะลงด้วยอักขระยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า จึงนิยมเรียกและมีชื่อว่าตะกรุดมงกุฎพระพุทธเจ้า เป็นอักขระยันต์ชั้นสูง มีอำนาจคุณวิเศษยิ่ง หาประมาณค่าเปรียบเทียบมิได้มีอานุภาพครอบจักรวาล จะแตะต้องและสำเร็จอักขระยันต์ชั้นสูงนี้ได้นั้น จะต้องเป็นพระเวทยาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และมีญาณวิเศษชั้นสูงเท่านั้น ถึงจะจับต้องอักขระยันต์ชั้นสูงนี้ได้ โดยสังเกตุจากชื่ออักขระยันต์ ถ้าไม่แน่ และไม่เก่งจริงคงไม่กล้าที่จะลงอักขระชื่อยันต์ประเภทนี้"ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า" เป็นพระคาถาที่หลวงปู่ได้มอบให้กับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่๕)



                                                         
ตะกรุดโทนมงกุฏพระพุทธเจ้า

       ต่อมาเป็นตะกรุดชายธง  ที่ลงอักขระยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า คนเก่าแก่โบราณจึงมักเรียก "ตะกรุดชายธงลงมงกุฎ"มีขนาดกำลังน่าพกน่าใช้ไม่ใหญ่ ไม่เล็ก จนเกินไปคือมีขนาด 3 นิ้ว 7หุน  โดยถักเชือกขึ้นเสาลายตะบองเกลียว 7 เสา วนด้วยทองแดงเถือนหนาๆโหดๆ ๓รอบ ลงรักจีนแดงย่นวิ่งระหว่างเส้นเชือกเก่า หรือจะเป็นตะกรุดโทนขนาด 4.5 นิ้ว โดยตะกรุดของท่านจะลงด้วยอักขระยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า จึงนิยมเรียกชื่อว่าตะกรุดมงกุฎพระพุทธเจ้า เป็นอักขระยันต์ชั้นสูง มีอำนาจคุณวิเศษยิ่ง หาประมาณค่าเปรียบเทียบมิได้มีอานุภาพครอบจักรวาล  ซึ่งพระเกจิอาจารย์ที่สำเร็จอักขระยันต์ชั้นสูงนี้ได้นั้น จะต้องเป็นพระเวทยาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และมีญาณวิเศษชั้นสูงเท่านั้น ถึงจะจับต้องอักขระยันต์ชั้นสูงนี้ได้ โดยสังเกตจากชื่ออักขระยันต์ ถ้าไม่แน่ และไม่เก่งจริงคงไม่กล้าที่จะลงอักขระชื่อยันต์ประเภทนี้"ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า "

       คงไม่มีใครปฏิเสธว่าหลวงปู่เอี่ยม  แห่งวัดหนัง  เป็นผู้เรืองวิทยาคมในระดับแถวหน้าของเมืองไทย ผู้ชื่นชอบในพระเครื่องและเครื่องรางของขลังไม่มีใครไม่ศรัทธาหลวงปู่เอี่ยม  ซึ่งวัตถุมงคลของท่านที่สร้างปลุกเสกขึ้นมานั้นล้วนแต่เข้มขลังมีประสบการณ์ในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเมตตามหานิยม  คุ้มกันภัย แคล้วคลาด และอยู่ยงคงกระพัน รวมถึงเป็นมหาอุด  ดังนั้นจึงทำให้ผู้คนต่างแสวงหามาครอบครองเพื่อจะได้ไว้บูชาติดตัว   
    

ขอบคุณภาพจาก : เว็ปไซต์พระเครื่องทุกเว็ป  

แกลเลอรี่ :

คำค้น : หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ,ประวัติหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ,พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ,เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ,ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง , หมากทุยหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ,ตะกรุดสาลิกาหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง , เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ,พระพิมพ์ปิดตายันต์ยุ่งหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง , หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง , พระเกจิอาจารย์ดังย่านธนบุรี , ตะกรุดโทนมงกุฎพระเจ้าหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กรุงเทพฯ , พระเกจิอาจารย์ทีมีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ,เหรียญรุ่นสุดท้ายบล็อกยันต์ห้าหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กรุงเทพฯ . แนะนำพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง , ตะกรุดมงกุฎพระพุทธเจ้าสาริกา , พระปิดตาพิมพ์สังฆาฎิหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง , พระปิดตาพิมพ์ข้าวตอกแตก หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง , พระปิดตาพิมพ์ประกบเศียรแหลมหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ,เหรียญรุ่นแรกบล็อกยันต์สี่สามจุด หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ปี 2467 , เหรียญปั๊มเหมือนหลวงปู่เอี่ยม รุ่นแรกยันต์สี่ ปี 2467 , เครื่องรางของขลังชื่อดังหมากทุย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง